บทความสุขภาพ ความรู้อาหารเสริม การใช้ยา

แนะ!!ปรับเปลี่ยนท่าทางร่างกายก่อนที่ปวดคอปวดหลังเรื้อรัง

Posted on: พฤษภาคม 14, 2013


แนะ!!ปรับเปลี่ยนท่าทางร่างกายก่อนที่ปวดคอปวดหลังเรื้อรัง

แนะ!!ปรับเปลี่ยนท่าทางร่างกายก่อนที่ปวดคอปวดหลังเรื้อรัง

นพ.เตมีย์ เสถียรราษฎร์’ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลัง ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เล่าถึงปัญหา ปวดคอ ปวดหลัง ว่า ในความเป็นจริงแล้ว คนทุกเพศทุกวัยสามารถมีอาการปวดต้นคอและ ปวดหลัง ได้จากกล้ามเนื้ออักเสบเกร็ง ซึ่งเป็นผลมาจากการใช้งานกล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำๆ ในท่าเดิมๆ ร่วมกับปัจจัยร่วมอื่นๆ เช่น ความเครียด อายุ น้ำหนัก และกรรมพันธุ์ สำหรับผู้ที่มีอาการข้างต้นเป็นประจำ อาจถือเป็นสัญญาณเตือนว่าให้ปรับพฤติกรรมการใช้ร่างกาย ไม่ควรนั่งหลังงอ หรือนั่งทำงานติดต่อกันนานเกินไป และไม่ควรยกของหนัก

ปัญหาที่ว่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร คุณหมอเตมีย์ จึงอธิบายถึง กระดูกคอ” จุดเกิดเหตุ ว่า มีหน้าที่ในการเคลื่อนไหวคอในทิศทางต่างๆ เช่น ก้ม เงย หันซ้ายหันขวา หรือเอียงคอไปมา แต่เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมีการใช้งานซ้ำๆ ของกระดูกคอ จะทำให้น้ำในหมอนรองที่อยู่ระหว่างกระดูกค่อยๆ ลดลง ส่งผลให้หมอนรองกระดูกเหี่ยวแฟบและยุบตัว รับการกระแทกได้น้อยลง จากนั้นร่างกายก็จะค่อยๆ สร้างหินปูนขึ้นมาบริเวณใกล้ๆ กับหมอนรองกระดูก เพื่อช่วยในการกระจายน้ำหนักในบริเวณกระดูกคอ

สำหรับหินปูนที่เกิดขึ้นนี้พบได้ในผู้สูงอายุเกือบทุกคน เพราะเป็นกลไกของการเสื่อมที่เกิดขึ้นตามอายุ ซึ่งอาจจะไม่มีอาการใดๆ เลย ทว่ากรณีที่ปวดมาก หินปูนอาจไปกดเบียดเส้นประสาทและไขสันหลังบริเวณคอ และยังจะทำให้เกิดอาการผิดปกติทางระบบประสาทได้

และเพื่อรู้ให้ชัดๆ คุณหมอเตมีย์ แจกแจงอาการกระดูกคอเสื่อม แบ่งได้สองกลุ่ม โดยกลุ่มแรก คือ มีอาการ ปวดคอ  จากหมอนรองกระดูกเสื่อมหรือข้อต่อหลวม ส่วนกลุ่มสอง คือ มีอาการจากการกดไขสันหลังหรือเส้นประสาท ซึ่งจะมีอาการปวดร้าวจากบริเวณคอลงไปที่แขน มือ อาจพบอาการชาและอ่อนแรงของกล้ามเนื้อในบริเวณแขนด้วย

อย่างไรก็ตาม อาการปวดที่เกิดขึ้นมักจะเป็นมากเวลามีการเคลื่อนไหว หันคอ เอี้ยวคอ ในรายที่มีการกดทับไขสันหลังจะมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อแขนและขาส่งผลให้การเดินผิดปกติ และอาจมีมือเกร็งหยิบจับสิ่งของลำบากหรือเขียนหนังสือไม่ได้ ผู้ที่มีอาการเหล่านี้ควรไปพบแพทย์เพื่อซักประวัติและตรวจร่างกาย รวมถึงตรวจเอ็กซเรย์ และการตรวจพิเศษ เช่น การตรวจภาพถ่ายรังสีคลื่นแม่เหล็ก(MRI) และการตรวจคลื่นไฟฟ้าของกล้ามเนื้อ (EMG)

แม้ว่าภาวะกระดูกคอเสื่อมจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ ปวดคอ แต่ในความเป็นจริง คุณหมอเตมีย์ ชี้ว่าคนส่วนใหญ่มัก ปวดคอ  เพราะปัญหากล้ามเนื้อมากกว่า ดังนั้นการดูแลตัวเองในเบื้องต้นเพื่อบรรเทาอาการปวดจึงทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวัน เช่น ปรับท่าทางในการนั่งทำงาน ไม่นอนหมอนสูงเกินไป หลีกเลี่ยงการยกของหนัก ไม่นั่งก้มคอ หลังงอทำงาน หรือแหงนคอบ่อยๆ ไม่นั่งหลับสัปปะหงก

ท่านั่งที่ถูกต้องต้องนั่งตัวตรงโดยมองจากทางด้านข้างแนวหูจะตรงกับกระดูกสะโพก ไม่ควรนั่งทำงานติดต่อกันนานเกินไป (ควรลุกยืนหรือเดิน 5-10 นาที ทุกๆ 1 ชั่วโมง) ปรับสิ่งแวดล้อมในที่ทำงานหรืองานให้เหมาะสม เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ควรปรับระดับให้ได้ความสูงที่พอดีและไม่เอนพนักมากเกินไป เก้าอี้ที่นั่งทำงานควรจะมีพนักพิงสูงถึงท้ายทอยเพื่อที่เวลานั่งทำงานจะสามารถพิงได้ถึงศีรษะ จะช่วยลดการเกร็งของกล้ามเนื้อหลังและคอ นอกจากนั้นควรหาเวลาไปออกกำลังกาย เช่น เต้นแอโรบิค เดิน ขี่จักรยาน รำมวยจีน ลีลาศ (ยกเว้นท่าที่สะบัดคอ) ว่ายน้ำ (หลีกเลี่ยงท่ากบ)

นอกจากปรับท่าทางแล้ว อย่าลืมหากิจกรรมเพื่อลดความเครียดของจิตใจ เพราะความเครียดก็ทำให้กล้ามเนื้อเกร็งได้บ่อย และควรจัดสรรเวลากายภาพบำบัดร่วมด้วย เช่น การประคบร้อน อัลตราซาวด์ การบีบนวดก็ช่วยได้ แต่ถ้ารักษาในเบื้องต้นแล้วไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์

สุดท้าย คุณหมอเตมีย์ แนะท่าบริหารที่ควรทำเป็นประจำคือ การยืดกล้ามเนื้อเพื่อลดอาการปวดเกร็ง ถ้าต้องการยืดกล้ามเนื้อคอด้านขวา ให้นั่งทับมือขวาแล้วใช้มือซ้ายวางที่บริเวณหูขวา จากนั้นใช้มือซ้ายกดศีรษะให้เข้ามาชิดไหล่ซ้ายให้มากที่สุดค้างไว้ 20 วินาทีแล้วทำซ้ำข้างละ 10-20 ครั้ง โดยควรทำวันละ 2 รอบเช้าเย็นหรือก่อนนอน

ส่วนการยืดกล้ามเนื้อหลังส่วนล่างให้นอนหงายแล้วทำท่ากอดเข่าให้เข่าชิดอกให้มากที่สุดค้างไว้ 20 วินาทีโดยทำทีละข้างสลับกันวันละ 20 รอบก่อนนอน ท่าทางเหล่านี้ ถ้าฝึกเป็นประจำจะช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อบริเวณคอและหลังให้ยืดหยุ่น แข็งแรง

ที่มา : กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

ป้ายกำกับ: ,

ใส่ความเห็น

พฤษภาคม 2013
จ. อ. พ. พฤ. ศ. ส. อา.
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031  

Top Clicks

  • ไม่มี

Blog Stats

  • 76,690 hits